คำถามสุขภาพเพศชาย ที่ถูกถามบ่อยที่สุด : สัญญาณเตือนในผู้ชายวัย 50 ปีขึ้นไป
จาก คอลัมน์เสพสมบ่มิสม โดย ดร.โอ
เรียนคุณหมอโอ ที่เคารพ
ผมอายุ 55 ปี มีปัญหาเหนื่อยง่าย หงุดหงิดง่าย ไม่อยากทำการบ้านกับภรรยา น้องชายไม่แข็งตัวเหมือนเดิม นอนไม่หลับ พอตอนกลางคืนที่นอนไม่หลับ ก็ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานแย่ลง และการตัดสินใจต่างๆช้าลงครับ เนื่องจากผมทำงานเป็นผู้จัดการบริษัท จึงทำให้กระทบกับการทำงานค่อนข้างมากครับ
ตัวผมเองมีโรคประจำตัว คือ เบาหวาน ทานยาลดระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ คุณหมอที่ตรวจสุขภาพก็แนะนำให้ออกกำลังกายดูแลเรื่องอาหารครับ เพราะในช่วง 2-3 ปีมานี้ น้ำหนักขึ้นมาค่อนข้างมาก จนทำให้มีพุง และเส้นรอบเอวเพิ่มขึ้นเป็น 36 นิ้ว จนทำให้ต้องเปลี่ยนไซส์กางเกง ตอนนี้ผมรู้สึกกังวลมากครับ ไม่รู้ว่าโรคเบาหวานที่เป็น มันเกี่ยวกับอาการที่เป็นอยู่หรือเปล่า ไหนจะเรื่องไม่อยากทำการบ้านอีกครับ
ผมเลยอยากปรึกษาคุณหมอว่า ผมต้องทำยังไงดีครับ กับอาการที่ผมเป็น คุณหมอพอจะมีวิธีแนะนำที่จะทำให้ผมหายหรือ อาการดีขึ้นบ้างไหมครับ หรือเพราะเบาหวานที่ผมเป็นเลยทำให้ผมมีอาการเหล่านี้ครับ
จึงเรียนมาปรึกษา ด้วยความเคารพครับ
พุทธ
ตอบ คุณพุทธ
จากจดหมายของคุณพุทธ หมอขอสรุปอาการที่คุณเป็นคือ คุณพุทธ อายุ 55 ปี มีอาการ เหนื่อยง่าย หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ ความต้องการทางเพศ และความแข็งตัวของอวัยวะเพศลดลง ประกอบกับมีโรคประจำตัวคือ เบาหวาน เส้นรอบเอวอยู่ที่ 36 นิ้ว
จากอาการดังกล่าวข้างต้น คล้ายกับอาการของ “ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย” ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการยืนยันด้วยผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยการตรวจฮอร์โมนเพศชาย (Total testosterone) หากพบว่ามีค่าน้อยกว่า 350 ng/dl แสดงว่ามีภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งสามารถรักษาได้ ด้วยการใช้ฮอร์โมนเพื่อเป็นการเพิ่มฮอร์โมนเพศชาย
อาการของภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายที่สามารถพบได้ทั่วไป คือ คนไข้จะรู้สึก เหนื่อยง่าย ไม่มีแรง หงุดหงิดง่าย อ้วนลงพุง นอนไม่หลับ ความต้องการทางเพศลดลง โดยมีข้อมูลระบุว่า ในเพศชายที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป มีความชุกของโรค ประมาณ 30% อาจกล่าวได้ว่า 1 ใน 3 ของชายที่อายุ 45 ปีขึ้นไป พบว่ามีภาวะพร่องฮอร์โมน ที่สำคัญการเป็นโรคเรื้อรัง ได้แก่ เบาหวาน ไขมันและความดันโลหิตสูง ทำให้เพิ่มความเสี่ยง ในการมีภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย เพิ่มมากขึ้น กว่าชายที่ไม่มีโรคเรื้อรังเหล่านี้ถึง 2 เท่า นอกจากนั้นข้อมูลการศึกษายังพบว่า ในคนที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย ยังพบอัตราการเสียชีวิตที่มากกว่า คนที่มีระดับฮอร์โมนเพศชายปกติถึง 2 เท่าเช่นเดียวกัน
ในปัจจุบันคนให้ความสำคัญกับเรื่องเพศมากขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุซึ่งเป็นวัยที่อวัยวะทุกอย่างถดถอยลง ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความไม่ลงตัวในเรื่องเพศสัมพันธ์กับคู่ชีวิต ซึ่งถ้ามีความเข้าใจในสาเหตุ ของ “ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย” และแก้ไขปัญหาถูกทาง จะสามารถช่วยให้ผู้สูงอายุมีชีวิตครอบครัวที่มีความสุขได้
วิธีการดูแลรักษาโดยการเพิ่มฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งในประเทศไทย ในปัจจุบัน มีฮอร์โมนเพศชายทดแทน ทั้งในรูปแบบยาฉีด และยาทา ซึ่งการใช้ยาฮอร์โมนในรูปแบบเจลทา ค่อนข้างปลอดภัย ใช้ง่าย และสะดวก โดยสามารถทาที่หน้าท้อง หรือหัวไหล่ วันละครั้งในตอนเช้า เป็นวิธีที่สะดวกสบาย หลายๆท่านชอบใช้เพราะไม่เจ็บตัว การทาเจลทำให้ได้รับยาแน่นอน ระดับยาในกระแสเลือดคงที่เพราะผิวหนังช่วยดูดซึมยาเข้าสู่กระแสเลือดแน่นอน ที่สำคัญการทายาทุกวันทำให้คนไข้สามารถคาดหวังผลการรักษาได้ทุกวัน นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่พบว่า การใช้ฮอร์โมนรูปแบบเจลทา สามารถช่วยให้คนไข้ควบคุมอาการเบาหวาน ได้ดีขึ้นในกรณีที่คนไข้มีภาวะพร่องฮอร์โมนร่วมด้วย
ดังนั้นคุณพุทธสามารถสบายใจได้ ว่าอาการที่เป็นอยู่สามารถรักษาได้ และยังช่วยควบคุมอาการเบาหวาน ได้ดีขึ้นอีกด้วย ท่านใดที่มีข้อสงสัย หรือคำถามเพิ่มเติม ที่อยากขอคำปรึกษาเรื่องปัญหาสุขภาพเพศชาย สามารถขอคำแนะนำได้ที่ โทร 02-2598233 และ เว็บไซด์ www.meetdoctoro.com
ดร.โอ สุขุมวิท 51