การเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด
มีคนชวนคุยเรื่อง “การเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด” ครับ นับว่าเป็นหัวข้อน่าสนใจเพราะเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งทางสูติกรรมครับ เมื่อเราพูดถึงคำว่า “ก่อนกำหนด” ทางสูติกรรม จะหมายถึงการคลอดที่เกิดก่อน 37 สัปดาห์ ทารกที่คลอดออกมาก่อน 37 สัปดาห์จะมีเรื่องที่เราต้องเฝ้าระวังมากมายครับ
การคลอดก่อน 37 สัปดาห์นั้นเป็นหลักไมล์ที่ปลายทางของเรื่องนี้ ส่วนต้นทางนั้นอาจกำหนดที่ประมาณ 28 สัปดาห์ คือสมัยก่อนหากทารกที่คลอดในช่วงตั้งแต่ 28 สัปดาห์ไปจนถึงก่อน 37 สัปดาห์ ดังที่กล่าวไปแล้ว เราจะนับเป็นการคลอดก่อนกำหนด หากทารกออกมาก่อน 28 สัปดาห์ก็ถือเป็นการแท้ง แต่ในปัจจุบันที่วิทยาการทางกุมารเวชศาสตร์ก้าวหน้าไปมากมาย การช่วยเหลือทารกที่คลอดออกมาก่อนกำหนดทำได้ดีขึ้นกว่าสมัยก่อน ตรงนิยามเริ่มต้นอายุครรภ์ก่อนกำหนดก็เปลี่ยนแปลงเป็นการคลอดที่อายุครรภ์ประมาณ 22-24 สัปดาห์
แต่การดูแลทารกที่คลอดออกมาในอายุครรภ์ดังกล่าวก็จะยุ่งยาก ซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้นหากเรามีวิธีป้องกัน รักษา ช่วยยื้อให้ทารกอยู่ในครรภ์มารดาให้ยืดยาวได้มากที่สุดก็จะเกิดผลดีมากกว่า ในขณะเดียวกันนั้นเราก็ต้องประเมินด้วยว่า “รก” ณ ตอนนั้น ๆ จะยังคงทำหน้าที่เลี้ยงทารกไว้ในครรภ์ต่อได้หรือไม่
สาเหตุของการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด
ถึงแม้เราจะเรียกว่า การเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด แต่ก็มีบางทีที่คนไข้อาจไม่รู้สึกเจ็บเลยด้วยซ้ำ และการแท้งที่มีปัจจัยที่เป็นสาเหตุเยอะแยะมากมายซึ่งบางทีอาจเกิดขึ้นจากระบบในร่างกายเราเอง ดังต่อไปนี้
- ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่ใช้เลี้ยงรกมีไม่เพียงพอ
- ร่างกายของคุณแม่เองสร้างแอนติบอดี้มาต่อต้านเนื้อเยื่อใหม่ในร่างกายที่เกิดขึ้นภายหลังการปฏิสนธิ
- ปากมดลูกและ/ กล้ามเนื้อเชิงกรานไม่แข็งแรง ซึ่งบางครั้งจะเรียกว่าภาวะ “ปากมดลูกหลวม”
- การอักเสบติดเชื้อในช่องคลอด
- และสาเหตุอื่น ๆ อีกมากมาย
เมื่อมีอาการที่เสี่ยงต่อการแท้งหรือคลอดก่อนกำหนด การรักษาอย่างหนึ่งที่จะให้ไว้เสมอคือการให้ยาฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ซึ่งมีทั้งแบบฉีด, รับประทาน และเหน็บทางช่องคลอด ยาฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนแบบรับประทานก็จะมีหลากหลายชนิด หลายแบรนด์ ก็แล้วแต่แพทย์จะเลือกใช้ตามความคุ้นเคย และการตอบสนองต่อยาของคนไข้
นอกเหนือจากการรักษาด้วยยากลุ่มดังกล่าวแล้ว สิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ ในการดูแลรักษาสตรีตั้งครรภ์คือการนอนพักผ่อน จะว่าไปการนอนพักเป็นหลักสำคัญที่สุดสำหรับการดูแลรักษาภาวะแทรกซ้อนของสตรีตั้งครรภ์ เพราะหากคนไข้ที่มีอาการแทรกซ้อนเรื่องการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดทานยาตามที่แพทย์ให้ แต่ไม่นอนพักผ่อนเพิ่มขึ้น ยังคงมีกิจกรรมประจำวันไปๆ มาๆ อาการของการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดก็อาจเพิ่มขึ้นได้
การนอนพักผ่อนจะช่วยให้การไหลเวียนเลือดไปที่มดลูกได้มากขึ้น ทั้งสารอาหาร ออกซิเจนก็จะไหลเวียนไปทารกได้มากขึ้นด้วย นอกจากนี้การเดินไป ๆ มา ๆ ก็จะมีผลเรื่องแรงโน้มถ่วงโลกที่อาจจะดึงหน่วงให้ทารกเคลื่อนตัวจากช่องท้องลงสู่ช่องคลอดได้มากขึ้น จึงทำให้อาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดจะรุนแรงขึ้นไปอีก
ผู้เขียน:
นพ.วิริยะ เล็กประเสริฐ
สูตินรีแพทย์ทั่วไป