ผลข้างเคียงจากยารักษาต่อมลูกหมากโต: ทำความเข้าใจกับกลุ่มอาการ Post-Finasteride Syndrome
กลุ่มอาการหลังได้รับยารักษาต่อมลูกหมากโต
ชนิด 5-alpha reductase inhibitor
“โรคต่อมลูกหมากโต” นับว่าเป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยชายสูงอายุ มีการพบโรคนี้ในประชากร 8.5-41 คน ต่อประชากร 1000 คน1 การรักษาโรคต่อลูกหมากโตในปัจจุบันนั้นมีหลายระดับ ประกอบด้วย การรับประทานยา และการรักษาด้วยการผ่าตัด
ในกลุ่มการรักษาด้วยยานั้นจะมียาอยู่สองกลุ่มที่เป็นมาตรฐานหลัก และเป็นที่นิยมคือ กลุ่ม alpha blocker และ กลุ่ม 5-alpha reductase inhibitor ยาทั้งสองกลุ่มมีความปลอดภัยสูง และถูกใช้อย่างแพร่หลายไปทั่วโลก แต่ถึงอย่างไรยาทั้งสองกลุ่มนี้ก็มีผลข้างเคียงที่ผู้ป่วยพึงทราบก่อนเริ่มรับประทานยา ซึ่งในบทความนี้จะเน้นแต่ภาวะข้างเคียงของยากลุ่ม 5-alpha reductase inhibitor
เนื่องจากกลไกการทำงานของยาในกลุ่ม 5-alpha reductase inhibitor คือการยับยั้งการเปลี่ยนฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ไปเป็นฮอร์โมนดีเอชที (Dihydrotestosterone) ซึ่งมี ปฎิกิริยาทำให้ต่อมลูกหมากมีขนาดเล็กลงได้ราว 25-30%2, 3 จึงมีการนำมารักษาโรคต่อมลูกหมากโต จากกลไกดังกล่าว ยาในกลุ่มนี้ยังถูกนำไปใช้รักษาโรคผมบางจากพันธุกรรม หรือ Androgenetic Alopecia ได้อีกด้วย
ผลข้างเคียงที่แพทย์มักแนะนำก่อนเริ่มยาในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่คือ ภาวะอวัยวะเพศแข็งตัวผิดปกติพบความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 1.47 เท่า และ ภาวะความต้องการทางเพศลดลง พบความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 1.54 เท่าเมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้รับประทานยา4 กลุ่มอาการหลังได้รับยาต่อมลูกหมากชนิด 5-alpha reductase inhibitor หรืออาจเรียกเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Post-finasteride syndrome เป็นภาวะที่พบได้น้อย และมักจะมีอาการเกิดขึ้นได้ตั้งแต่หลังจากเริ่มทานยา จนอาจยาวนาน ต่อเนื่องไปจนถึงช่วงหลังจากหยุดยาไปแล้ว5, 6 กลุ่มอาการนี้ประกอบด้วย อาการทางด้านเพศดังที่กล่าวไปตอนต้น, อาการทางด้านจิตประสาท เช่น วิตกกังวลมากขึ้น ซึมเศร้า อาจร้ายแรงถึงขั้นอัตวินิบาตกรรม โดยมีการพบโรคซึมเศร้าในผู้ที่รับประทานยา 2.4 คนต่อประชากร 1000 คนต่อปี7 นอกจากนี้ยังมีการพบอาการทางกายเช่น ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง อ่อนเพลียร่วมด้วยได้
ทั้งนี้ จากข้อมูลทางการแพทย์และงานวิจัยยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด8 แต่เบื้องต้นพบว่าเกี่ยวข้องกับระดับฮอร์โมนในสมองที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากยากลุ่มนี้นอกจากไปลดระดับฮอร์โมนดีเอชทีแล้ว ยังพบว่าไปทำลายระดับสมดุลฮอร์โมนอีกหลายตัวเช่น อัลโลเพรคนาโนโลน (Allopregnanolone) และเอสโตรเจน (Estrogen)เป็นต้น9, 10 นอกจากนั้นยา กลุ่มนี้ยังส่งผลต่อสารสื่อประสาทโดปามีน (Dopamine) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์และความรู้สึกรัก, มีความสุข, และควบคุมระบบรางวัลตอบแทน ในกลุ่มสัตว์ทดลองอีกด้วย11,12 ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะนี้ ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคทางจิตหรือซึมเศร้าอยู่เดิม และ/หรือมีประวัติญาติสายตรงป่วยทางจิต13 นอกจากนั้นยังพบความเสี่ยงสูงในผู้ป่วยวัยรุ่นที่รับประทานยาด้วยเรื่องผมบางจากพันธุกรรม14 แต่ทั้งนี้หากท่านได้รับประทานยารักษาต่อมลูกหมากโตชนิดดังกล่าว และพบว่ามีภาวะหรืออาการดังกล่าว ควรติดต่อแพทย์ศัลยกรรมระบบปัสสาวะเพื่อพูดคุย ปรับเปลี่ยนการรักษา และหาสาเหตุของอาการอย่างเร็วที่สุด เพื่อควบคุมภาวะข้างเคียง และบรรเทาอาการที่เกิดขึ้น
References
- Egan KB. The Epidemiology of Benign Prostatic Hyperplasia Associated with Lower Urinary Tract Symptoms: Prevalence and Incident Rates. Urol Clin North Am 2016; 43(3): 289-297.
- Amory JK, Wang C, Swerdloff RS, Anawalt BD, Matsumoto AM, Bremner WJ et al. The effect of 5alpha-reductase inhibition with dutasteride and finasteride on semen parameters and serum hormones in healthy men. J Clin Endocrinol Metab 2007; 92(5): 1659-1665.
- Rittmaster RS, Norman RW, Thomas LN, Rowden G. Evidence for atrophy and apoptosis in the prostates of men given finasteride. J Clin Endocrinol Metab 1996; 81(2): 814-819.
- Corona G, Tirabassi G, Santi D, Maseroli E, Gacci M, Dicuio M et al. Sexual dysfunction in subjects treated with inhibitors of 5α-reductase for benign prostatic hyperplasia: a comprehensive review and meta-analysis. Andrology 2017; 5(4): 671-678.
- Maksym RB, Kajdy A, Rabijewski M. Post-finasteride syndrome – does it really exist? Aging Male 2019; 22(4): 250-259.
- Traish AM. Post-finasteride syndrome: a surmountable challenge for clinicians. Fertil Steril 2020; 113(1): 21-50.
- Muderrisoglu AE, Becher KF, Madersbacher S, Michel MC. Cognitive and mood side effects of lower urinary tract medication. Expert Opin Drug Saf 2019; 18(10): 915-923.
- Saengmearnuparp T, Lojanapiwat B, Chattipakorn N, Chattipakorn S. The connection of 5-alpha reductase inhibitors to the development of depression. Biomed Pharmacother 2021; 143: 112100.
- Melcangi RC, Santi D, Spezzano R, Grimoldi M, Tabacchi T, Fusco ML et al. Neuroactive steroid levels and psychiatric and andrological features in post-finasteride patients. J Steroid Biochem Mol Biol 2017; 171: 229-235.
- Caruso D, Abbiati F, Giatti S, Romano S, Fusco L, Cavaletti G et al. Patients treated for male pattern hair with finasteride show, after discontinuation of the drug, altered levels of neuroactive steroids in cerebrospinal fluid and plasma. J Steroid Biochem Mol Biol 2015; 146: 74-79.
- Li L, Kang YX, Ji XM, Li YK, Li SC, Zhang XJ et al. Finasteride inhibited brain dopaminergic system and open-field behaviors in adolescent male rats. CNS Neurosci Ther 2018; 24(2): 115-125.
- Frau R, Mosher LJ, Bini V, Pillolla G, Pes R, Saba P et al. The neurosteroidogenic enzyme 5α-reductase modulates the role of D1 dopamine receptors in rat sensorimotor gating. Psychoneuroendocrinology 2016; 63: 59-67.
- Ganzer CA, Jacobs AR, Iqbal F. Persistent sexual, emotional, and cognitive impairment post-finasteride: a survey of men reporting symptoms. Am J Mens Health 2015; 9(3): 222-228.
- Nguyen DD, Marchese M, Cone EB, Paciotti M, Basaria S, Bhojani N et al. Investigation of Suicidality and Psychological Adverse Events in Patients Treated With Finasteride. JAMA Dermatol 2021; 157(1): 35-42.
ผู้เขียน:
อ.นพ.ธีรภัทร แสงมีอานุภาพ
หน่วยศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่