คำถามที่พบบ่อยสำหรับเพศชาย

คำถามที่พบบ่อยสำหรับเพศหญิง

  • ภาวะวัยทองหญิง (Menopause) คืออะไร

    ภาวะวัยทองหญิง (Menopause) คือ วัยที่มีการหยุดผลิตไข่ และมีการสร้างฮอร์โมนเพศหญิงลดลงอย่างมากของรังไข่
    สตรีเข้าสู่วัยทองแล้วเมื่อประจำเดือน ไม่มาติดต่อกันเป็นเวลา 12 เดือนหรือ 1 ปี (Postmenopause)
    อาการต่างๆเกิดจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน สตรีบางคนอาจไม่มีอาการเลย หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยหรือ เพียงระยะเวลาสั้นๆ ในขณะที่บางคนอาจมีอาการที่รุนแรง จนรบกวนวิถีชีวิตประจำวัน
    การเปลี่ยนแปลงของระบบประสาทอัตโนมัติ VMS ได้แก่ มีอาการร้อนวูบวาบ (hot flush) และเหงื่อออกในตอนกลางคืน (night sweat) และ ภาวะช่องคลอดแห้งนั้น สัมพันธ์กับการลดลง ของระดับเอสโตรเจนเช่นกัน

  • ภาวะช่องคลอดแห้ง คืออะไร

    ช่องคลอดแห้ง (Vaginal Dryness) เป็นอาการขาดเมือกหล่อลื่นภายในช่องคลอด ทำให้เยื่อบุช่องคลอดขาดความชุ่มชื้น จนเกิดความแห้งกร้าน และอาจก่อให้เกิดอาการเจ็บขึ้นได้ ซึ่งเป็นอาการทั่วไปของวัยทอง แต่ก็สามารถพบได้ในผู้หญิงทุกวัย

  • อาการของภาวะช่องคลอดแห้ง

    ผู้หญิงที่มี ภาวะช่องคลอดแห้ง อาจมีอาการได้ตลอดเวลา ในบางรายอาจมีอาการเป็นระยะ หรือเฉพาะในขณะมีเพศสัมพันธ์ อาการที่พบได้บ่อยมีดังนี้
    -มีอาการคัน เกิดการระคายเคือง หรือความรู้สึกแสบร้อนบริเวณช่องคลอด
    -รู้สึกไม่สบายตัว หรือเจ็บในขณะมีเพศสัมพันธ์
    -ความต้องการทางเพศลดลง และถึงจุดสุดยอดได้ยากมากขึ้น
    -เยื่อบุช่องคลอดบาง และมีสีซีดลง อาจมีเลือดออกหลังการมีเพศสัมพันธ์
    -ปวดปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ
    -มีอาการแสบขณะปัสสาวะ
    -อาจเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะขึ้นบ่อย ๆ ได้ในบางราย
    แม้ว่าภาวะช่องคลอดแห้งเกิดได้บ่อยในผู้หญิงและสามารถดีขึ้นได้เอง แต่หากอาการที่เกิดขึ้นกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์จนนำไปสู่ปัญหาระหว่างคู่ครอง ควรไปพบแพทย์

  • สาเหตุของภาวะช่องคลอดแห้ง

    ภาวะช่องคลอดแห้งสามารถเกิดได้หลายสาเหตุ ที่พบได้บ่อยมีดังนี้
    วัยทอง – เป็นสาเหตุหลักของการเกิดภาวะช่องคลอดแห้ง โดยปกติผู้หญิงจะมีฮอร์โมนเพศหญิงที่ชื่อว่าเอสโตรเจนเป็นตัวรักษาเยื่อบุช่องคลอดให้มีสุขภาพดีด้วยการผลิตเมือกใส เคลือบบริเวณผนังช่องคลอดให้มีความหนาและยืดหยุ่น แต่เมื่อเข้าสู่วัยทองจะเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างของร่างกาย รวมไปถึงปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จึงทำให้สารหล่อลื่นเหล่านี้ถูกผลิตน้อยลงจนอาจไม่มีเลยในบางคน ส่งผลให้ผนังช่องคลอดบางลง ขาดความชุ่มชื้น และไม่ยืดหยุ่น จนเกิดอาการภาวะช่องคลอดแห้ง
    อยู่ในช่วงให้นมบุตรหรือคลอดลูก – ระดับเอสโตรเจนในช่วงนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงและลดลงอย่างรวดเร็ว จึงอาจทำให้ช่องคลอดแห้งได้ชั่วคราว
    ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่รักษาด้วยวิธีการฉายแสง (Radiotherapy) บริเวณกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหรือการทำเคมีบำบัด (Chemotherapy) ด้วยการรับประทานยาต้านเอสโตรเจน (Anti-estrogen) ในบางครั้ง ก็อาจส่งผลให้เนื้อเยื่อบริเวณช่องคลอดมีความบางลง มีอาการแห้งตามมา
    การคุมกำเนิดด้วยการฉีด หรือ รับประทานยาอาจทำให้สภาพในช่องคลอดแห้งขึ้นได้เป็นครั้งคราว
    การผ่าตัดรังไข่ออก – ฮอร์โมนเอสโตรเจนถูกผลิตขึ้นที่รังไข่ เมื่อมีการผ่าตัดรังไข่ออกจึงส่งผลกระทบต่อปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย
    ความเครียดอย่างรุนแรง อาการซึมเศร้า หรือการออกกำลังกายอย่างหนัก
    ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดภาวะช่องคลอดแห้งได้จากสาเหตุอื่น เช่น อาการขาดนิโคตินในผู้ที่สูบบุหรี่ โรคเบาหวาน การสวนล้างช่องคลอด การใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น

  • ภาวะแทรกซ้อนของภาวะช่องคลอดแห้ง

    ภาวะช่องคลอดแห้ง โดยทั่วไปอาจทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อรา หรือแบคทีเรีย บริเวณช่องคลอดได้ง่ายขึ้น เนื่องจากแผลหรือรอยถลอกที่ผนังช่องคลอดที่ขาดความยืดหยุ่น บางลง และระคายเคืองได้ง่าย นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บแสบในขณะมีเพศสัมพันธ์จนกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างคู่ครองได้

  • การวินิจฉัยภาวะช่องคลอดแห้ง

    แพทย์จะเริ่มซักถามประวัติทางการแพทย์ อาการผิดปกติที่เกิดขึ้น ระยะเวลาแสดงอาการ หรือ สาเหตุอื่น ๆ ที่อาจสร้างความระคายเคืองบริเวณช่องคลอด เช่น การสวนล้างช่องคลอด การใช้ยาบางชนิด แต่โดยทั่วไปเมื่อแพทย์สอบถามอาการคร่าว ๆ หากพบว่ามีอาการคัน แสบร้อน หรืออาการเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ก็สามารถคาดเดาได้ว่าผู้ป่วยน่าจะมีภาวะช่องคลอดแห้งเกิดขึ้น
    จากนั้นจะมีการตรวจภายใน เพื่อตรวจดูความผิดปกติผนังช่องคลอด และ การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ หรืออาจตรวจเลือดวัดระดับฮอร์โมนในผู้ป่วยที่สงสัยว่าเข้าวัยทอง เพื่อช่วยยืนยันผล และวางแผนรักษาแก้ไขอย่างเหมาะสมต่อไป

  • การป้องกันภาวะช่องคลอดแห้ง

    ภาวะช่องคลอดแห้ง เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติในวัยหมดประจำเดือน และบางครั้งอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่นที่ส่งผลให้สภาวะภายในช่องคลอดเสียสมดุล
    มีแนวทางการป้องกัน ดังนี้
    – รับประทานอาหารที่มีผลดีต่อบริเวณช่องคลอด เช่น โยเกิร์ต ที่อาจช่วยป้องกันการติดเชื้อรา หรือ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองที่มีส่วนประกอบเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจนเล็กน้อย และ ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน ซึ่งอาจจะช่วยเป็นสารหล่อลื่นตามธรรมชาติได้
    – หลีกเลี่ยงการใช้ถุงยางอนามัยที่มีส่วนประกอบของสารโนน๊อกซินอล 9 (Nonoyxnol-9: N-9) ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอาการช่องคลอดแห้งได้
    – ควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำหอม หรือ สารเคมีบริเวณอวัยวะเพศ รวมไปถึงการสวนล้างช่องคลอดบ่อย ๆ ซึ่งจะทำให้อาการแย่ลง เนื่องจากอาจทำให้สภาพความเป็นกรดด่างภายในช่องคลอดเสียสมดุลไป
    – ทำจิตใจให้แจ่มใสพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง พยายามไม่เครียด

  • การรักษาภาวะช่องคลอดแห้ง

    การรักษาภาวะช่องคลอดแห้งนั้น ต้องพิจารณาสาเหตุการเกิดเป็นหลัก จึงควรมีการปรึกษาแพทย์ในการค้นหาสาเหตุที่แน่ชัดก่อน โดยวิธีการรักษาหลักที่นิยมใช้ มีดังนี้
    – การใช้สารหล่อลื่น ในรูปแบบเจลหรือของเหลว (KY Gel) เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ โดยทาบริเวณอวัยวะเพศหรือช่องคลอดของฝ่ายหญิง หรือทาที่อวัยวะเพศชาย ก่อนการมีเพศสัมพันธ์
    – การใช้สาร(เจล)หล่อลื่นและให้ความชุ่มชื้นในช่องคลอด รูปแบบเจลสำหรับใช้ทาภายในช่องคลอดโดยเฉพาะ เพื่อบรรเทาสภาพแห้งของช่องคลอด ตัวยาออกฤทธิ์ได้นาน โดยทา 2-3 วันต่อครั้ง จึงช่วยบรรเทาอาการได้ดีกว่าการใช้สารหล่อลื่น แต่ควรระวังการใช้ยาประเภทที่เป็นปิโตรเลียมเจลและน้ำมัน ซึ่งอาจจะทำปฏิกิริยากับถุงยางอนามัย และอาจสร้างความระคายเคืองให้กับช่องคลอดได้
    – ยาฮอร์โมนเฉพาะที่ เป็นยาที่ใช้สำหรับทาบริเวณช่องคลอดโดยตรงในรูปแบบยาทา หรือยาเม็ดสอดในช่องคลอด โดยกลไกการออกฤทธิ์ของยาจะปล่อยเอสโตรเจนออกมาในบริเวณช่องคลอด ทำให้เยื่อบุบริเวณช่องคลอดชุ่มชื้นขึ้น
    การให้ฮอร์โมนทดแทน (Hormone Replacement Therapy: HRT) เป็นตัวยา กลุ่มฮอร์โมนสำหรับรักษาผู้ที่มีภาวะช่องคลอดแห้ง เนื่องมาจากการหมดประจำเดือน โดยเป็นยาฮอร์โมนที่ออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย จึงสามารถช่วยรักษาอาการอื่นของวัยทองอื่นด้วยได้ เช่น ภาวะร้อนวูบวาบ อารมณ์หงุดหงิด ส่วนใหญ่เป็นยามีทั้งรูปแบบยาเม็ดรับประทาน ยานี้อาจมีความเสี่ยงในการใช้ยาเกิดขึ้นได้ จึงควรมีการปรึกษากับแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญถึงผลเสีย และผลดีของการใช้ยา

บทความที่น่าสนใจ