อสุจิปนเลือด: สาเหตุและการรักษา Hematospermia ในชายทุกวัย
“อสุจิปนเลือด” คือ ภาวะที่เลือดไหลออกมาพร้อมกับน้ำอสุจิ โดยสามารถพบได้ทั้งจากการตรวจน้ำอสุจิโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ และสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งเป็นภาวะที่สามารถพบได้ในชายทุกช่วงอายุที่มีการผลิตน้ำอสุจิ พบได้บ่อยในชายที่อายุน้อยกว่า 40 ปี สำหรับชายที่อายุน้อยกว่า 40 ปี ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ (Urogenital infections) แต่ในชายที่อายุมากกว่า 40 ปีนั้น สาเหตุอาจเกิดจากอาการของโรคที่มีความรุนแรงมากขึ้น รวมถึงโรคมะเร็งในระบบทางเดินปัสสาวะ
เกิดขึ้นได้อย่างไร?
โดยส่วนมากในผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ 70 ไม่ทราบสาเหตุของการเกิดที่แน่ชัด แต่สาเหตุที่เป็นไปได้ประกอบด้วย
1) การบาดเจ็บหลังการรักษา ซึ่งเป็นหนึ่งสาเหตุที่พบบ่อย เช่น การเจาะชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก การฉายแสงต่อมลูกหมาก และการส่องกล้องระบบปัสสาวะ
2) การติดเชื้อและการอักเสบ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยรองลงมา การติดเชื้อนี้พบในชายที่อายุน้อยกว่า 40 ปี ร้อยละ 15 และพบในชายที่อายุมากกว่า 40 ปี ร้อยละ 10.3 เช่น ต่อมลูกหมากอักเสบ ถุงสร้างบำรุงตัวอสุจิอักเสบ ท่อปัสสาวะอักเสบ อัณฑะอักเสบ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์รวมถึงโรคหนองในหรือหนองในเทียม
3) พฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ เช่น การหมกมุ่นและมีเพศสัมพันธ์ที่รุนแรง และการไม่มีเพศสัมพันธ์เป็นเวลานาน
4) โรคมะเร็งในระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งท่อปัสสาวะ มะเร็งอัณฑะ และมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
5) สาเหตุอื่นๆ เช่น ภาวะเลือดแข็งตัวผิดปกติ นิ่วในถุงน้ำอสุจิ อัณฑะบิดขั้ว ความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรง และความผิดปกติของเส้นเลือด
อาการทั่วไปของโรค
อาการที่พบหรือสังเกตได้ชัด คือ ปวดขณะหลั่งน้ำอสุจิเนื่องจากท่อปัสสาวะอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ การอุดตันของท่อน้ำอสุจิ มีประวัติการบาดเจ็บบริเวณอวัยวะเพศ อวัยวะระบบสืบพันธ์ุพบหนองและแผล ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะแสบขัด คลำได้ก้อนเนื้อผิดปกติต่างๆในอวัยวะระบบสืบพันธ์ุชาย และคลำได้ต่อมน้ำเหลืองขาหนีบ
การวินิจฉัย แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุภาวะอสุจิปนเลือดดังนี้
1) การซักประวัติ อายุของผู้ป่วย ลักษณะการมีเพศสัมพันธ์ โรคประจำตัว ประวัติการรักษาโรคต่างๆ และการใช้ยาต่างๆ
2) การตรวจร่างกาย การวัดสัญญาณสัญญาณชีพ โดยเฉพาะความดันโลหิต การตรวจคลำองคชาตและอัณฑะ กรณีแพทย์สงสัยมีพยาธิสภาพ แพทย์จะตรวจสืบค้นเพิ่มเติม เช่น การตรวจทางทวารหนัก
3) การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจความสมบูรณ์ของเลือด การแข็งตัวของเลือด การทำงานของตับ การตรวจ PSA ในผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 40 ปี การตรวจปัสสาวะ การส่องกล้องตรวจระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งการตรวจนั้นขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีไป
การรักษา การรักษานั้นมีเป้าหมายในการรักษาไปตามอาการ และบรรเทาความวิตกกังวลของ ผู้ป่วย เพราะในผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีภาวะอสุจิปนเลือดนี้อาการจะหายไปได้เอง โดยเฉพาะในชายที่อายุน้อยกว่า 40 ปี โดยก่อนการรักษานั้น แพทย์จะตรวจหาความผิดปกติเกี่ยวกับระบบสืบพันธ์ุและระบบปัสสาวะเพื่อหาสาเหตุก่อน หากแพทย์ตรวจไม่พบพยาธิสภาพ เป้าหมายของการรักษา คือ อธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจ โดยเฉพาะในเรื่องพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาการสามารถหายไปเอง หลังพักการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าอาการปกติอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ จึงเริ่มมีเพศสัมพันธ์ใหม่ด้วยวิธีที่ถูกต้อง หากแพทย์พบสาเหตุ เป้าหมายของการรักษา คือการรักษาตามสาเหตุนั้น เช่น การให้ยาปฏิชีวนะในกรณีมีสาเหตุเกิดจากการ urogenital infections การให้ยาต้านการอักเสบในรายที่มีการอักเสบ การให้ยาลดความดันโลหิตสูงในกรณีมีสาเหตุเกิดจากความดันโลหิตสูงรุนแรง และการผ่าตัด ฉายแสง และให้ยาเคมีบำบัด ในกรณีที่เป็นโรคมะเร็งระบบทางเดินปัสสาวะ
สรุป ภาวะที่เลือดไหลออกมาพร้อมกับน้ำอสุจิมักสร้างความวิตกกังวลให้กับผู้ป่วย และมักจะหาสาเหตุของภาวะอสุจิปนเลือดนี้ไม่ค่อยพบ แต่โดยส่วนมากเกิดจากบาดเจ็บ การอักเสบ หรือการติดเชื้อ และสามารถหายเองได้ในชายที่มีอายุน้อย แต่หากเกิดจากสาเหตุที่มาจากโรคร้ายแรงนั้นพบว่าส่วนมากจะเกิดกับผู้ที่มีอายุมาก ดังนั้นเมื่อทราบเหตุผลดังนี้แล้ว ผู้ที่มีอาการนี้จึงไม่ควรวิตกกังวลหรือเครียดจนเกินไป การตรวจร่างกาย และสังเกตอาการเป็นประจำโดยทั่วไปถือว่าเพียงพอแล้วโดยไม่ต้องตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม แต่ในชายที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดต่อไป
เอกสารอ้างอิง
1. Dantanarayana N. Haematospermia. Reprinted from afp 2015; 44(12): 907-910.
2. Furuya S., Masumori N., and Takayanagi A. Natural history of hematospermia in 189 Japanese men. International Journal of Urology 2016; 23(11): 934-940. https://doi.org/10.1111/iju.13176
3. Fuse H., Komiya A., Nozaki T., and Watanabe A. Hematospermia: etiology, diagnosis, and treatment. Reprod Med Biol 2011; 10: 153-159. DOI 10.1007/s12522-011-0087-4
4. Ju ren Zh., et al. Transurethral resection of ejaculatory duct combined with seminal
vesiculoscopy for management of persistent or recurrent hemospermia in men with
ejaculatory duct obstruction. BMC Urol 2020; 20(34).https://doi.org/10.1186/s12894-
020-00589-3
5. Kurkar A., Elderwy A.A., Awad S.M., Abulsorour S., Aboul-Ella H.A., and Altahar A. Hyperuricemia: a possible cause of hemospermia. UROLOGY 2014; 84: 609-612. https://doi.org/10.1016/j.urology.2014.05.018
6. Liao L.G., et al. Etiology of 305 cases of refractory hematospermia and therapeutic options by emerging endoscopic technology. Scientific Reports 2019; 9(5018): 1-11. https://doi.org/10.1038/s41598-019-41123-2
7. Mathers MJ., Degener M., Sperling H., and Roth S. Hematospermia-a symptom with many possible causes. Dtsch Arztebl Int 2017; 114: 186-91. DOI: 10.3238/arztebl.2017.0186
8. Mittal P.K. Hematospermia Evaluation at MR Imaging. RadioGraphics 2016; 36(5): 1373-1389.
9. Suh Y., et al. Etiologic classification, evaluation, and management of hematospermia. Transl Androl Urol 2017; 6(5): 959-972. DOI: 10.21037/tau.2017.06.01
10. Zargooshi J., et al. Hemospermia: long-term outcome in 165 patients. International Journal of Impotence Research 2013; 26, 83–86; DOI: 10.1038/ijir.2013.40
ผู้เขียน:
นพ.ทรงพล ไชยแสง
ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ
โรงพยาบาลร้อยเอ็ด