หลอดเลือดอัณฑะขอด: โรคสุขภาพเพศชายที่ท้าทายเทสโทสเตอโรน
เมื่อพูดถึงสุขภาพเพศชาย หากมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น คุณหมอมักจะแนะนำให้สังเกตอาการต่างๆ เช่น อารมณ์แปรปรวน นกเขาไม่ขัน หรืออ้วนลงพุง ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่บ่งบอกถึงภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย (เทสโทสเตอโรน) สำหรับบางท่านที่มีอาการปวดหน่วงๆ ที่ถุงอัณฑะบ่อยๆ อาจเป็นสัญญาณของโรคหลอดเลือดอัณฑะขอด ซึ่งส่งผลต่อการผลิตฮอร์โมนเพศชาย วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับโรคนี้กัน
หลอดเลือดอัณฑะขอดคืออะไร?
หลอดเลือดอัณฑะขอด คือการที่กลุ่มเส้นเลือดดำในบริเวณถุงอัณฑะเกิดการพองโต ทำให้เกิดอาการปวดหน่วงๆ ที่อัณฑะเป็นครั้งคราว หรืออาจสังเกตเห็นว่าอัณฑะข้างใดข้างหนึ่งโตขึ้น โรคนี้ไม่ได้ถือว่าเป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรง แต่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ชาย
สาเหตุของหลอดเลือดอัณฑะขอด
หลอดเลือดอัณฑะขอดเกิดจากการที่ลิ้นปิดเปิดในหลอดเลือดดำเกิดการบกพร่อง ทำให้เลือดไหลจากบนลงล่างแทนที่จะเป็นล่างขึ้นบน ส่วนใหญ่อาการขอดจะเกิดกับหลอดเลือดดำในอัณฑะฝั่งซ้ายมากกว่าเพราะเป็นหลอดเลือดที่ไหลเข้าสู่ไต
ความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศชาย (เทสโทสเตอโรน)
อาการหลอดเลือดอัณฑะขอดสามารถพบได้ในผู้ชายที่มีอายุ 15-25 ปี และหากพบในชายที่อายุมากกว่า 40 ปี และเป็นอาการขอดที่หลอดเลือดอัณฑะขวา จะทำให้มีบุตรยาก เพราะโรคนี้ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนลดลง ซึ่งฮอร์โมนเพศชายนี้ถูกผลิตขึ้นจากอัณฑะทั้งสองข้าง
การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดอัณฑะขอด
เบื้องต้นแพทย์จะคลำที่ด้านหลังถุงอัณฑะในท่ายืนหรือท่าคล้ายกำลังเบ่ง หากพบว่ามีลักษณะเป็นลำๆ หยุ่นๆ จะมีการถ่ายอัลตราซาวนด์ และหากพบว่าขนาดของหลอดเลือดพองเกิน 2 มิลลิเมตรขึ้นไป แสดงว่าขอด
การรักษา
เมื่อพบว่าขอด ควรรีบทำการรักษาตามระดับความรุนแรง หากไม่มีอาการ แพทย์จะแนะนำให้ใส่กางเกงในที่รัดๆ เพื่อลดอาการปวด แต่ในกรณีที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นมีบุตรยาก แพทย์จะทำการผ่าตัด