สัญญาณพร่องฮอร์โมนเพศชาย

โดย : Admin Besinsthailand วันที่เผยแพร่ : 30 ตุลาคม 2567
โดย : Admin Besinsthailand วันที่เผยแพร่ : 30 ตุลาคม 2567
แชร์ข้อมูล
สัญญาณเตือนคุณผู้ชาย

สัญญาณพร่องฮอร์โมนเพศชาย

สัญญาณเตือน ถึง คุณผู้ชาย “จะรู้ได้อย่างไรว่าเราพร่องฮอร์โมน” 

สุขภาพร่างกายที่แข็งแรงเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา คงไม่มีใครปฏิเสธสิ่งนี้ได้ ดังเช่นคำพูดที่เคยได้ยินบ่อยๆว่า “ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” แต่ในความเป็นจริงร่างกายของคนเราก็เสื่อมไปตามอายุการใช้งาน กระบวนการต่างๆในร่างกายเราก็ย่อมทำงานได้น้อยลงกว่าตอนหนุ่มๆ กล้ามเนื้อไม่แข็งแรงแบบเดิม อารมณ์แปรปรวน ไม่สดชื่น หรือ แม้เรื่องทางเพศที่จะดูเสื่อมถอยลงตามอายุ เป็นที่มาของบทความนี้ที่พูดถึงเรื่องภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย

ฮอร์โมนเพศชายคือ ฮอร์โมนที่ผลิตจากอัณฑะส่วนที่เป็นเซลล์ส่วนที่เรียกว่า Leydig cell  ถูกควบคุมด้วย ต่อมใต้สมอง( Pituitary gland) ผ่านทางฮอร์โมน Luteinising Hormone (LH) โดยฮอร์โมน LH จะถูกควบคุมจาก Hypothalamus ผ่านทาง GnRH โดยหน้าที่ของฮอร์โมนเพศชายมีหน้าที่สำคัญคือ การพัฒนาการทางเพศและการเจริญเติบโตเป็นลักษณะเพศชาย และสมรรถภาพทางเพศโดยเกี่ยวข้องตั้งแต่ความรู้สึกทางเพศ หรือความต้องการทางเพศ โดยฮอร์โมนเพศชายนั้นจะลดลงเมื่ออายุมากขึ้น โดยจากงานวิจัยของ EMAS(European Male Ageing Study)  พบว่า มีการลดลงของการผลิดฮอร์โมนเพศชายเฉลี่ย 0.4% ต่อปี

ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย เป็นภาวะที่มีการลดการทำงานของอัณฑะ ร่วมกับมีการลดการสร้างฮอร์โมนเพศชาย และ/หรือ การสร้างอสุจิบกพร่อง โดยสาเหตุหลักมาจากการทำงานของอัณฑะที่แย่ลงจากการที่ระบบการกระตุ้น hypothalamic-pituitary axis ไม่เพียงพอ โดยภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายที่เกิดในผู้ชายที่อายุมากกว่า 40 ปี มีอีกชื่อว่า Late-onset hypogonadism

ปัจจัยที่สำคัญหรือความเสี่ยงที่ทำให้เราพบภาวะนี้มากขึ้นคือ อายุที่มากขึ้น ผู้ชายที่มีภาวะอ้วนลงพุง(Metabolic syndrome) มีโรคประจำตัวเช่น เบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไต และโรคมะเร็ง

สัญญาณเตือนที่สำคัญของภาวะนี้คือ ผู้ชายกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงร่วมกับมีอาการดังต่อไปนี้

1. กลุ่มอาการเพศ

  • ความต้องการทางเพศลดลง (Reduce libido)
  • อวัยวะเพศไม่แข็งตัว (Erectile dysfunction)
  • การแข็งตัวของอวัยวะเพศตอนเช้าลดลง
  • จำนวนครั้งในการมีเพศสัมพันธ์ลดลง
  • จำนวนครั้งในการช่วยตัวเองลดลง
  • การหลั่งน้ำอสุจิช้าลง

2. กลุ่มอาการทางร่างกาย

  • การลดลงของการออกกำลัง (Vigorous activity : activity  ≥ 6 METs) *METs Metabolic equivalent : 1 METs = พลังงานที่ใช้ขณะพักหรือนั่งเฉยๆ)
  • มีความลำบากในการเดินระยะ 1 กิโลเมตร
  • การโค้งงอของร่างกายลดลง
  • ร้อนวูบวาบ (Hot flushes)
  • พลังงานลดลง
  • ความแข็งแรง/การทำงาน/กิจกรรมทางกายลดลง

3. กลุ่มอาการทางจิตใจ

  • อารมณ์หดหู่
  • ไม่ค่อยมีแรงจูงใจ
  • เหนื่อยอ่อนเพลีย
  • สมาธิและความจำแย่ลง
  • รบกวนการนอนหลับ

โดยการวินิจฉัยภาวะนี้คือผู้ชายที่มีอาการตามดังกล่าวข้างต้น ร่วมกับ เจาะเลือดดู ระดับฮอร์โมน testosterone ต่ำในช่วงเช้า (เจาะเวลา 8.00-11.00น.) อย่างน้อย 2 ครั้งขึ้นไป

ห่ากท่านมีอาการดังกล่าวตามแบบสอบถามข้างล่างต่อไปนี้แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ระบบปัสสาวะ สุขภาพที่ดี สุขภาพที่แข็งแรง เราดูแลได้ ใส่ใจเรื่องฮอร์โมนเพศชาย

ตรวจเช็คภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายเบื้องต้น

เอกสารอ้างอิง

EAU Guideline 2020 : SEXUAL AND REPRODUCTIVE HEALTH Page 16-20

Wu, F.C., et al. Hypothalamic-pituitary-testicular axis disruptions in older men are differentially linked to age and modifiable risk factors: the European Male Aging Study. J Clin Endocrinol Metab, 2008. 93: 2737.

ผู้เขียน:

นพ.วีรยุทธ์ วิริยะบัณฑิตกุล

หน่วยศัลยกรรมระบบปัสสาวะ กองศัลยกรรม

โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

pastedGraphic.png

บทความที่น่าสนใจ

บทความที่น่าสนใจ