ฮอร์โมนเพศชายทดแทน เป็นสาเหตุของมะเร็งต่อมลูกหมากจริงหรือ
ปัจจุบันเริ่มมีการตระหนักถึงภาวะพร่องฮอร์โมนเพศในชายสูงอายุกันมากขึ้น การรักษาโดยการใช้ฮอร์โมนทดแทนสามารถลดอาการของชายวัยทอง และทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น อย่างไรก็ตาม มีคำเตือนว่าไม่แนะนำให้ใช้ฮอร์โมนเพศชายทดแทน ในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากหรือผู้ที่สงสัยว่าจะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ทำให้ผู้ป่วยบางรายกังวลว่า การใช้ฮอร์โมนจะเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งต่อมลูกหมากหรือไม่
มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นโรคที่พบได้บ่อยในชายสูงอายุ มีการศึกษายืนยันว่าฮอร์โมนเพศชายมีผลทำให้ต่อมลูกหมากพัฒนาเจริญขึ้นจากวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่ แต่ยังไม่มีการวิจัยใดยืนยันว่าการใช้ฮอร์โมนเพศชายกระตุ้นให้เกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก และยังไม่มีสถิติยืนยันว่าผู้ที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากมีระดับฮอร์โมนเพศชายสูงกว่าปกติ
อย่างไรก็ตามยังมีข้อวิตกกังวลว่าฮอร์โมนเพศชายทดแทนอาจทำให้ผู้ป่วยที่มีมะเร็งต่อมลูกหมากอยู่แล้วเกิดการเจริญลุกลามของโรคมากขึ้น จึงมีคำแนะนำให้ผู้ป่วยตรวจเลือดเช็คค่า prostate specific antigen (PSA) และตรวจคลำต่อมลูกหมากทางทวารหนัก เพื่อคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากก่อนที่จะรับฮอร์โมนเพศชายทดแทน และตรวจซ้ำหลังรับฮอร์โมนทดแทนเป็นระยะ จากหลักฐานในปัจจุบันถ้าการตรวจเหล่านี้ปกติ ผู้ป่วยสามารถรับฮอร์โมนทดแทนได้โดยไม่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
ผู้เขียน :
นพ.ศุภณัฏฐ์ ลุมพิกานนท์
หน่วยศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
เอกสารอ้างอิง
Roddam A, Allen N, Appleby P, Key T. Endogenous Hormones and Prostate Cancer Collaborative Group. Endogenous sex hormones and prostate cancer: a collaborative analysis of 18 prospective studies. J Natl Cancer Inst. 2008; 100(3):170-83
Morgentaler A. Controversies and advances with testosterone therapy: a 40-year perspective. Urology. 2016; 89: 27-32.