การเตรียมตัวเข้าสู่วัยทอง: เคล็ดลับดูแลสุขภาพกายและใจ

โดย : Admin Besinsthailand วันที่เผยแพร่ : 4 พฤศจิกายน 2567
โดย : Admin Besinsthailand วันที่เผยแพร่ : 4 พฤศจิกายน 2567
แชร์ข้อมูล
การเตรียมตัวเข้าสู่วัยทองหญิง

การเตรียมตัวเข้าสู่วัยทอง: เคล็ดลับดูแลสุขภาพกายและใจ

ก้าวสู่วัยทองของชีวิต… อย่างสวยงาม

สุขภาพกายและใจที่ดีเริ่มต้นที่ตัวเรา

ผู้หญิงเรามีช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนตลอดเวลา เรียกว่าผู้หญิงกับฮอร์โมนเป็นของคู่กันก็ว่าได้ ตั้งแต่เด็ก จนโตขึ้นเข้าสู่ช่วงเริ่มมีประจำเดือน วัยเจริญพันธุ์ ผ่านการตั้งครรภ์ และท้ายที่สุดเข้าสู่วัยทองซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านฮอร์โมนครั้งสำคัญในชีวิตผู้หญิง เพราะมีผลต่อร่างกายและจิตใจ

ความสำคัญของภาวะวัยทองและอาการวัยทองในผู้หญิง

“วัยทอง” คือวัยที่มีการสิ้นสุดของการมีประจำเดือนอย่างถาวรเนื่องจากรังไข่หยุดการทำงาน และเป็นการหยุดความสามารถในการเจริญพันธุ์  นับเมื่อขาดประจำเดือนมาเป็นเวลาต่อเนื่องนาน 12 เดือนหรือ 1 ปี  โดยหญิงไทย อายุเฉลี่ยที่จะเข้าสู่วัยทองคืออายุประมาณ 48-52 ปี

อาการวัยทองที่พบเห็นทางกายทั่วไปคือ ร้อนวูบวาบ เหงื่อแตกง่าย นอนไม่หลับ ช่องคลอดแห้ง ปัสสาวะขัด ทางใจก็ เครียดง่าย หงุดหงิดง่าย ขี้กังวล ขี้ลืม เป็นต้น นี่คือกลุ่มอาการที่คนวัยทองมาพบแพทย์ แต่บางคน ถ้ามีอาการเล็กน้อย ไม่กระทบต่อชีวิตประจำวัน เขาก็ไม่มาพบแพทย์

“แล้วควรตรวจอะไรบ้างในวัยทอง ? “

กลุ่มคนไข้ที่จะเข้ามาพบแพทย์มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีอาการวัยทอง และ กลุ่มที่ไม่มีอาการ แต่ต้องการมาตรวจคัดกรองสุขภาพ เพราะอยู่ในช่วงวัยเสี่ยง ปัญหาอ้วนลงพุง เส้นเลือดหัวใจตีบ กระดูกพรุน และเป็นการเริ่มใส่ใจกับตัวเอง ว่าเราควรต้องปรับเปลี่ยนสุขภาพอย่างไรบ้าง

STEP 1 เริ่มประเมินด้วยตัวเอง ดูว่าตัวเองมีอาการวัยทองหรือไม่ หรือมีแล้ว มีมากจนกระทบการใช้ชีวิตประจำวันหรือไม่ ถ้ามีอาการมากจนกระทบชีวิตประจำวันให้มาพบแพทย์เพื่อปรึกษา

STEP 2 เข้ามารับการตรวจร่างกาย ชั่งน้ำหนัก ส่วนสูง วัดรอบเอว และวัดความดันโลหิต เพื่อประเมินว่า มีภาวะอ้วนลงพุงหรือน้ำหนักเกินหรือไม่

STEP 3 เข้าพบแพทย์  เพื่อตรวจอะไร ?

ปรึกษาเรื่องอาการวัยทอง ( ถ้ามีอาการ )

ตรวจร่างกายทั่วไป และตรวจเลือดพื้นฐาน เช่น ความเข้มข้นของเลือด น้ำตาล ไขมัน การทำงานของตับของไต เป็นต้น

ตรวจคัดกรองมะเร็งต่างๆ

มะเร็งเต้านม : แนะนำคลำเต้านมด้วยตัวเอง และเพิ่มการตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรม (Mammogram) เมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป หรือเร็วกว่านั้นถ้ามีความเสี่ยงอื่น เช่น ประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม ( แนะนำปรึกษาเพทย์เพิ่มเติม )

มะเร็งปากมดลูก : แนะนำตรวจภายในคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และหรืออัลตราซาวด์ในอุ้งเชิงกราน เพื่อประเมินมดลูกและรังไข่ ปีละครั้ง และหยุดตรวจได้เมื่ออายุ 65 ปีขึ้น ถ้าเคยตรวจติดต่อกันและผลการตรวจปกติหมด ( แนะนำปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม )

มะเร็งลำไส้ : เมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจทางทวารหนักโดยการส่องกล้องทุกๆ 3-5 ปี

ประเมินภาวะกระดูกพรุน โดย การตรวจวัดมวลกระดูก Bone Mineral Density (BMD) ที่กระดูกสันหลังช่วงเอวและกระดูกสะโพก

ผู้ที่มีอาการปกติ ไม่มีภาวะเสี่ยง  ควรเริ่มตรวจความหนาแน่นกระดูกเมื่ออายุ 60 ปี ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น เคยมีประวัติกระดูกหักในครอบครัวจากภาวะกระดูกพรุน หรือรับประทานยาสเตียรอยด์เป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจความหนาแน่นกระดูกเร็วขึ้น

รับวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ

  • วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ : ฉีดทุกปี ปีละ 1 ครั้ง
  • วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด : แนะนำในผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ( ปรึกษาแพทย์ก่อนรับการฉีดวัคซีน )
  • วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ : แนะนำในผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ( ปรึกษาแพทย์ก่อนรับการฉีดวัคซีน )
  • วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก : แนะนำฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี

STEP 4 ควรเสริมฮอร์โมนทดแทนหรือไม่ ?

ถ้าคนไข้มีอาการวัยทองชัดเจน ไม่ว่าจะร้อนวูบวาบ ช่องคลอดแห้ง การให้ฮอร์โมนทดแทนคือการรักษาหลัก แต่จะต้องคุยกับแพทย์อย่างละเอียด ถึงข้อดี และความเสี่ยงจากการใช้ฮอร์โมน เช่น เรื่องผลต่อเต้านม ผลต่อตับ ร่วมกับดูปัจจัยอื่นๆเช่น โรคประจำตัว (แนะนำปรึกษาเเพทย์เพิ่มเติม)

STEP 5 ปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต และมุมมองในการใช้ชีวิต โดยเน้นที่  4 อ. อันได้แก่ อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ อนามัย

  • อาหารดี ลดของหวาน เค็ม และมัน ยิ่งกินมัน ระบบเผาผลาญในวัยนี้ทำงานน้อย ยิ่งอ้วน  เสริมผักผลไม้ โดยเฉพาะอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดี เพราะจะช่วยเกี่ยวกับมวลกระดูกในวัยทอง
  • ออกกำลังกาย ควรออกกำลังกาย 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 30-45 นาที
  • อารมณ์ ต้องฝึกรู้เท่าทันตัวเอง รู้และยอมรับ ปรับเปลี่ยนความคิด ทัศนคติ
  • อนามัย คือ รักษาสุขภาพอนามัยส่วนตัวและสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน จัดบ้านให้เป็นระเบียบ ป้องกันการหกล้ม

เหมือนที่เคยมีคนกล่าวไว้ว่า การเข้าสู่วัยทองก็คือวัยทองของชีวิต การปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลง จะช่วยให้ชีวิตวัยทองดำเนินไปอย่างมีคุณภาพและมีความสุข เปิดใจรับรู้สิ่งต่างๆ ให้ทันสถานการณ์ มีการพบปะทางสังคม และร่วมทำกิจกรรมในครอบครัว ก็จะช่วยให้วัยทองเป็นวัยที่สดใสไม่แพ้วัยใดๆ หมอเองเอาใจช่วยให้ทุกคนก้าวเข้าสู่วัยทองอย่างสวยงาม

ผู้เขียน:

พญ.วรมา เกษมพิพัฒน์ชัย

สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์

บทความที่น่าสนใจ

บทความที่น่าสนใจ