ช่องคลอดแห้ง: ปัญหาสุขภาพที่ผู้หญิงควรรู้หลังวัยหมดประจำเดือน

โดย : Admin Besinsthailand วันที่เผยแพร่ : 20 พฤศจิกายน 2567
โดย : Admin Besinsthailand วันที่เผยแพร่ : 20 พฤศจิกายน 2567
แชร์ข้อมูล
ช่องคลอดแห้ง

“ช่องคลอดแห้ง ปัญหาที่ผู้หญิงส่วนใหญ่นึกไม่ถึง”

ภาวะความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ และระบบสืบพันธุ์หลังวัยหมดประจำเดือน หรือเรียกง่ายๆว่า “ภาวะช่องคลอดและท่อปัสสาวะแห้ง” เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้บ่อยประมาณ 10-50% ในผู้หญิงหลังหมดประจำเดือน ซึ่งเกิดจากภาวะพร่องฮอร์โมนเอสโตรเจน เป็นผลทำให้ช่องคลอดและท่อปัสสาวะขาดความชุ่มชื้น ผนังเยื่อบุช่องคลอด และท่อปัสสาวะค่อยๆบาง จนทำให้คุณผู้หญิง มีอาการผิดปกติที่อวัยวะเพศ เช่น มีอาการแสบ คัน มีอาการเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ และในบางรายมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการปัสสาวะ เช่น ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะซ้ำๆ มีอาการปัสสาวะขัด ไม่สุดเวลาขับปัสสาวะ จนถึงขั้นปัสสาวะเป็นเลือด หรือ ปัสสาวะไม่ออก

หลายครั้งที่มีผู้ป่วยบางรายได้เข้ารับการรักษา และมักถูกวินิจฉัยว่า ติดเชื้อทางช่องคลอด หรือ ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และได้รับยาปฏิชีวนะ หรือ ยาฆ่าเชื้อ มารับประทาน อาการก็ยังไม่ดีขึ้น เนื่องจากสาเหตุที่แท้จริงนั้น เป็นสาเหตุที่เราอาจคาดไม่ถึง นั่นคือ “ภาวะช่องคลอดแห้ง” นั่นเอง

บางที ชื่อของโรคนี้ ฟังดูแล้วยังไม่ค่อยน่ากลัวสักเท่าไหร่ เนื่องจากไม่ค่อยพบภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง แต่ก็เป็นสาเหตุ ที่ทำให้เกิดสิ่งที่น่ารำคาญได้หลายประการ ได้แก่ แผลเรื้อรัง จนทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อราได้ง่ายขึ้น รวมถึงการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ในบางรายทำให้เกิดภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในผู้หญิง เนื่องจากเจ็บช่องคลอดเวลามีเพศสัมพันธ์ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้อาจนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้

คุณผู้หญิงจะดูแลตนเองอย่างไร เมื่อสงสัยภาวะช่องคลอด และท่อปัสสาวะแห้ง?

  1. รับประทานอาหารที่ช่วยเพิ่มฮอร์โมนเอสโตรเจน ได้แก่ ถั่วเหลือง และผลิตภัณฑ์จากเต้าหู้ ซึ่งอุดมไปด้วยสาร Phytoestrogen
  2. หลีกเลี่ยงการใช้สบู่ หรือ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีส่วนประกอบของน้ำหอม เนื่องจากสารเหล่านี้จะรบกวนสมดุลของแบคทีเรียที่ส่งเสริมสุขภาพที่ดีต่อช่องคลอด และหลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอดบ่อยๆ
  3. มีกิจกรรมทางเพศกับคุณสามีสม่ำเสมอ เนื่องจากกิจกรรมทางเพศสามารถกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดไปยังเนื้อเยื่อของช่องคลอด ทำให้มีการผลิตสารคัดหลั่งเพิ่มความชุ่มชื้นมากขึ้น อย่างไรก็ตามควรใช้เจลหล่อลื่นเป็นตัวช่วยขณะมีเพศสัมพันธ์ และให้งดกิจกรรมทางเพศหากมีอาการรุนแรง
  4. หากมีอาการรุนแรง อย่าลังเลที่จะปรึกษาแพทย์

การรักษา เมื่อมาพบแพทย์ ได้แก่

  1. การให้ยาฮอร์โมนเอสโตรเจนชนิดทาช่องคลอด หรือชนิดเม็ดสอด
  2. การเสริมฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทนในหญิงวัยหมดประจำเดือน ซึ่งการรักษานี้ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  3. ใช้สารเพิ่มความชุ่มชื้น (Vaginal Moisturizer) ในรูปแบบน้ำหรือเจล เพื่อช่วยปกป้อง และเคลือบผนังช่องคลอดให้ชุ่มชื้น โดยสารประเภทนี้มักอยู่ในรูปแบบของสารโพลีเมอร์ (Polymer) ที่ปราศจากฮอร์โมน และสารอันตราย จึงสามารถใช้ได้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานอย่างปลอดภัย

Reference

  • Flores S., Hall C. Atrophic Vaginitis. StatPearls[internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2021 Jan-.
  • Stika C. Atrophic Vaginitis. Dermatologic Therapy. 2010;23:514-522.
  • Shen, J., Song, N., Williams, C. et al. Effects of low dose estrogen therapy on the vaginal microbiomes of women with atrophic vaginitis. Sci Rep 6, 24380 (2016).
  • Brotman R., Shardell M., Gajer P. et al. Association between the vaginal microbiota, menopause status and signs of vulvovaginal atrophy. Menopause. 2014; 21(5): 450–458.

ผู้เขียน

นายแพทย์ชัยอนันต์ ตันติสถิรพูล

อาจารย์แพทย์ศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะ

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

pastedGraphic.png

บทความที่น่าสนใจ

บทความที่น่าสนใจ