8 สัญญาณเตือนเข้าสู่วัยทอง: สิ่งที่ผู้หญิงวัย 40+ ต้องรู้

โดย : Admin Besinsthailand วันที่เผยแพร่ : 6 ธันวาคม 2567
โดย : Admin Besinsthailand วันที่เผยแพร่ : 6 ธันวาคม 2567
แชร์ข้อมูล
8 สัญญาณเตือนเข้าสู่วัยทอง

8 สัญญาณเตือนเข้าสู่วัยทอง: สิ่งที่ผู้หญิงวัย 40+ ต้องรู้

สำหรับสาวๆวัยหลักสี่ทุกท่าน ที่เริ่มกังวลเรื่องริ้วรอยแห่งวัยที่เริ่มมาเยือน ทั้งรอยตีนกา ผิวหน้าที่เริ่มหย่อนคล้อย ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่รู้หรือไม่การทำงานของรังไข่ในสตรีเองก็มีการเสื่อมถอยเช่นเดียวกันไม่แตกต่างจากผิวหน้าที่เราส่องกระจกอยู่ทุกวัน โดยรังไข่ของสตรีนี้เองเป็นแหล่งสำคัญในการผลิตฮอร์โมนเพศหญิงหรือที่เรียกว่า ฮอร์โมนเอสโตรเจน ฮอร์โมนที่อยู่คู่กับสตรีวัยเจริญพันธ์ุ โดยฮอร์โมนดังกล่าวจะสร้างมาจากรังไข่และเร่ิมผลิตตั้งแต่เร่ิมแตกเนื้อสาวหรือวัยรุ่น หรือตั้งแต่มีประจำเดือนครั้งแรกนั่นเอง โดยฮอร์โมนเอสโตรเจนดังกล่าวมีส่วนสำคัญมากต่อการพัฒนาของอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง ทั้งการเจริญเติบโตของเต้านม การเจริญของมดลูก การขยายตัวของช่องคลอด ส่งผลให้สรีระของสตรี แตกต่างจากเพศชาย เช่น สะโพกผาย ผิวเนียนละเอียด เป็นต้น ส่งผลให้สตรีสามารถตั้งครรภ์และมีบุตรได้ นอกจากนี้ยังมีผลต่อการเจริญพัฒนาของกระดูก มีผลต่อการทำงานของระบบเผาผลาญ อย่างไรก็ตามการทำงานและการสร้างฮอร์โมนเพศหญิง หรือเอสโตรเจนของรังไข่มีวันหมดไป ซึ่งเกิดจากปริมาณเซลล์ไข่ในรังไข่ถูกใช้ในแต่ละเดือนจนหมดไปนั่นเอง โดยเฉลี่ยอายุสตรีไทยที่หมดประจำเดือนจะอยู่ที่ 49.5 ปี (1)

ดังนั้นสาวๆวัยหลักสี่ทุกคน ควรสังเกตสัญญาณเตือนว่าเราเองเข้าใกล้วัยหมดประจำเดือนหรือวัยทองหรือยัง ซึ่งวัยทองเองสาวๆหลายคนก็อาจกลัว กังวลไม่อยากเผชิญหน้าเข้าสู่วัยทอง เพราะเป็นวัยที่บ่งบอกถึงความเสื่อม หมดความสามารถในการเจริญพันธุ์ เป็นประตูเข้าสู่วัยชรา กำลังวังชา ความสดใส ความเบิกบานกำลังจะหมดไป แต่สาวๆที่รู้เท่าทัน สามารถเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ดูแลตัวเองทั้งด้านอาหารการกิน การออกกำลังกาย รู้เท่าทันอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลง ก็จะส่งเสริมให้เราก้าวผ่านช่วงวัยทองได้อย่างสวยงามและสามารถเป็นสาววัยทองที่ปราศจากโรค เป็น Active Menopause ที่มีสุขภาพดีพร้อมก้าวเข้าสู่วัย Active Aging ได้อย่างสง่างามและสุขภาพดี

อาการเตือนว่าเข้าสู่วัยทองมีอะไรบ้าง?

 มาลองตรวจเช็คร่างกายกันดูค่ะ ว่าเราเข้าข่ายข้อไหนบ้างหรือยัง

1. ประจําเดือนมาไม่สม่ำเสมอ สําหรับสาวๆคนไหนที่ปกติประจำเดือนมาสม่ำเสมอทุก 28-30 วัน เมื่อเข้าใกล้วัยทอง อาจมีภาวะประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอจากการลดลงของจำนวนเซลล์ไข่ในรังไข่ ส่งผลให้การตอบสนองของฮอร์โมนเพศในร่างกายเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งบางรายอาจมีทั้งรอบประจำเดือนสั้นลง (ระยะห่างระหว่างรอบเดือนสั้นลง จาก 30 วันเป็น 21 วัน) หรือบางรายรอบประจำเดือนห่างออก (จากเดิม 30 วัน เป็น 40-50 วัน) รวมถึงปริมาณประจำเดือนที่ อาจเปลี่ยนแปลงไป มีทั้งปริมาณประจำเดือนมากขึ้น ลดลง บางรายมีเลือดออกกะปริดกะปรอยระหว่างรอบเดือน ซึ่งบ่งบอกถึงการตกไข่ที่ไม่สมบูรณ์ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของประจำเดือนดังกล่าว (2)

2. ช่องคลอดแห้ง ระคายเคืองอวัยวะเพศ เนื่องจากสตรีวัยใกล้หมดประจำเดือนจะมีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายลดลง ซึ่งฮอร์โมนเอสโตรเจนนี้เองมีอิทธิพลสำคัญต่อการสร้างสารคัดหลั่งในช่องคลอด รวมถึงมีผลโดยตรง ต่อการสร้างเซลล์ผิวเยื่อบุช่องคลอด เมื่อปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนในสตรีลดลง สารคัดหลั่งในช่องคลอดลดลง เยื่อบุช่องคลอดบางลง รวมถึงเซลล์เยื่อบุบริเวณอวัยวะเพศภายนอกก็บางลงเช่นกัน ส่งผลให้เกิดอาการระคายเคืองง่าย บางรายใส่กางเกงรัดๆ มีความอับชื้น ก็ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง ผิวหนังอักเสบได้ และที่สำคัญเมื่อสารคัดหลั่งในช่องคลอดลดลงร่วมกับเยื่อบุช่องคลอดที่บางลง ส่งผลให้เกิดการเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ได้ หรือบางรายอาจมี เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์จากการบางตัวของผนังเยื่อบุช่องคลอดนั่นเอง (3)

3. ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไม่สุด ปัสสาวะกะปริดกะปรอย เนื่องจากบริเวณท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะในสตรีเองได้รับอิทธิพลจากฮอร์โมนเพศหญิงหรือเอสโตรเจนเช่นเดียวกันกับช่องคลอด ส่งผลให้เมื่อมีการลดลงของฮอร์โมนเพศดังกล่าว เยื่อบุท่อปัสสาวะและเยื่อบุกระเพาะปัสสาวะมีการบางตัวลง ทำให้ไวต่อการระคายเคืองและการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับสตรีวัยเจริญพันธ์ุ โดยบางรายกลั้นปัสสาวะนานๆ ก็ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ ก่อให้เกิดอาการปวดท้องน้อยเวลาปัสสาวะ ปัสสาวะแสบขัดได้ นอกเหนือจากนี้ การที่เยื่อบุกระ เพาะปัสสาวะบางตัวลงจะส่งผลต่อความสามารถในการกักเก็บปริมาตรของปัสสาวะ ส่งผลให้สตรีมีภาวะปัสสาวะบ่อยหรือปัสสาวะไม่สุดได้ (3)

4. ร้อนวูบวาบ สะบัดร้อนสะบัดหนาว เป็นอาการที่พบได้บ่อยในช่วงเปลี่ยนผ่านของสตรีวัยหมดประจำเดือน ผลจากการลดลงของฮอร์โมนเพศหญิงหรือเอสโตรเจนในร่างกาย มีผลต่อระบบการควบคุมอุณหภูมิของร่างกายที่บริเวณสมอง ส่วนไฮโปธาลามัส ส่งผลให้สตรีมีอาการสะบัดร้อนสะบัดหนาว โดยมักมีอาการร้อนวูบๆวาบๆบริเวณหน้าอก ลำตัวมาที่บริเวณใบหน้า โดยอาการจะเป็นเพียงไม่กี่วินาทีจนถึงราวๆ 5 นาที และหลังจากที่มีการระบายความร้อนออกจากร่างกายแล้ว สตรีจะมีอาการหนาวตามมา เช่น ขนลุก หนาวสั่น เป็นต้น สลับกันไป ซึ่งความรุนแรงของอาการในแต่ละบุคคลจะแตกต่างกัน ทั้งไม่รุนแรง ไม่มีอาการเลยหรืออาจมีอาการ 2-3 ครั้งต่อวัน โดยไม่รบกวนชีวิตประจำวันหรือการทำงาน ในขณะที่บางรายอาจมีอาการรุนแรงถึงมากกว่า 10 กว่าครั้งต่อวัน ส่งผลรบกวนชีวิตประจำวันและการนอนหลับ เป็นเหตุให้ต้องพบแพทย์เพื่อรับยาบรรเทาอาการ (4)

5. หงุดหงิดง่าย นอยด์เก่ง ขี้น้อยใจ นอนไม่หลับ เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นฮอร์โมนที่มีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของสตรีอย่างมากดังจะเห็นได้จากอาการในวันแดงเดือด หรือวันที่สตรีอารมณ์ฉุนเฉียว หงุดหงิดในช่วงก่อนมีประจำเดือนในสตรีวัยเจริญพันธ์ุ ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศในร่างกายที่ลดต่ำลงตามรอบประจำเดือน โดยสตรีวัยเจริญพันธ์ุจะมีระดับฮอร์โมนที่ลดต่ำลงมากที่สุดในช่วงก่อนมีประจำเดือนนั่นเอง ในขณะที่สตรีวัยหลักสี่ที่อยู่ในช่วงเข้าใกล้วัยหมดประจำเดือน ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายสตรีก็จะลดระดับลง เช่นเดียวกัน ซึ่งส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด โดยอาจแตกต่างกันได้ในแต่ละบุคคล บางรายแสดงออกมาในรูปแบบขี้หงุดหงิด ขี้โมโห  ขี้ใจน้อย มีอารมณ์เศร้าได้ง่าย สมาธิในการทำงานแย่ลง ขี้หลง ชี้ลืม รวมถึงวงจรการนอนหลับที่เปลี่ยนแปลงไป อาจนอนหลับยาก ตื่นกลางดึก นอนหลับไม่สนิท ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงก็เป็นผลพวงจากการลดลงของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายทั้งสิ้น (5)

6. อารมณ์ทางเพศลดลง ในสาวๆวัยหลักสี่เองอาจคิดว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องไกลตัว คิดว่าอารมณ์ทางเพศลดน้อยถอยลง ตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น แต่หารู้ไม่ตัวการที่แท้จริงที่ทำให้สาวหลักสี่หลีกเลี่ยงกิจกรรมบนเตียงกับคู่นอนหรือสามี ส่วนหนึ่งมีผลจากการลดลงของฮอร์โมนเพศที่ผลิตจากรังไข่ได้น้อยลง ซึ่งฮอร์โมนที่มีผลต่ออารมณ์ทางเพศดังกล่าว ได้แก่ ฮอร์โมนกลุ่มแอนโดรเจน หรือฮอร์โมนเพศชายที่มีอยู่ในสตรีนั่นเอง ไม่ต้องตกใจนะคะว่าในผู้หญิงก็มีฮอร์โมนเพศชายเช่นเดียวกันค่ะ เพียงแต่มีปริมาณน้อยๆ น้อยกว่าเพศชายเป็นร้อยเท่า ซึ่งฮอร์โมนเพศชายในสตรีเองจะสร้างมาจากรังไข่และต่อมหมวกไต เมื่อฮอร์โมนดังกล่าวในร่างกายลดลงจากการทำงานของรังไข่ที่ลดลง จะส่งผลต่ออารมณ์ทางเพศที่ลดลง ความต้องการ ความคิดจินตนาการจะลดลงตามการลดระดับลงของฮอร์โมนเพศ ทั้งเอสโตรเจนและ แอนโดรเจน (6)

7. ปวดตามข้อ จะเป็นอาการที่สตรีบางส่วนสังเกตได้ โดยอาจมีอาการปวดข้อเข่า ข้อมีเสียงดังกรอบแกรบเวลาขยับหรือนั่งกับพื้น ซึ่งเป็นผลส่วนหนึ่งจากการลดลงของฮอร์โมนเพศหญิงหรือเอสโตรเจน ซึ่งมีส่วนช่วยคงน้ำเลี้ยงข้อ และผิกระดูกอ่อนบริเวณข้อต่อ เมื่อฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ส่งผลให้เกิดการอักเสบบริเวณข้อเข่าได้ง่ายขึ้น ก่อให้เกิดอาการปวดตามข้อ และข้อเสื่อมตามมาได้ (7)

8. หน้าไม่ใส รูขุมขนกว้างขึ้น มีสิว ผมร่วง ปัญหาของสาวๆในวัยหลักสี่เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนมีผลต่อผิวหน้า ผิวตามร่างกาย รูขุมขน และการงอกใหม่ของเส้นผม ในขณะที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนในสตรีวัยหลักสี่ลดลง ระดับฮอร์โมนแอนโดรเจนก็ลดลงเช่นกัน อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบสัดส่วนแล้วระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนจะลดลงมากกว่าส่งผลให้ในช่วงวัยเปลี่ยนผ่านไปสู่วัยทอง สตรีจะมีฮอร์โมนเพศชายในร่างกายเด่นกว่าฮอร์โมนเพศหญิงส่งผลต่อการทำงานของต่อมไขมันบนใบหน้า บางรายหน้ามัน มีการกลับมาของสิว ผมร่วง ผิวหน้าหมองคล้ำไม่สดใส เป็นปัญหาในสาวหลักสี่กังวลใจได้ (8)

จะเห็นได้ว่ามีสัญญาณเตือนการเข้าสู่วัยทองที่หลากหลายแตกต่างกันไป โดยในสตรีบางรายอาจมีอาการน้อยๆ จนไม่ทันสังเกต หรือบางรายมีอาการมากจนต้องไปพบแพทย์หลายแผนก ซึ่งอาการหลากหลายนี้อาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยร่วมกันเพียงอย่างเดียว คือ การลดลงของฮอร์โมนเพศ ทั้งฮอร์โมนเอสโตรเจนและแอนโดรเจน ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนการเข้าสู่วัยทองนั่นเองคะ สาวๆคนไหนที่อยู่ในวัยหลักสี่แล้วรีบตรวจสอบสัญญาณเตือนก่อนเลยนะคะ ถ้ำคิดว่ามีอาการ ดังกล่าว สามารถพบคุณหมอสูตินรีแพทย์ เพื่อยืนยันการวินิจฉัย ปรึกษารับคำแนะนำการปฏิบัติตัวเมื่อเข้าสู่วัยทอง โดยหากมีอาการมากจนรบกวนชีวิตประจำวัน คุณหมอเองก็มีการรักษาที่ปลอดภัยและบรรเทาอาการได้ค่ะ

เอกสารอ้างอิง

Chompootweep S, Tankeyoon M, Yamarat K,  Poomsuwan P, Dusitsin N.The menopausal age and climacteric complaints in Thai women in Bangkok. Maturitas. 1993 Jul;17(1):63-71.

Allshouse A, Pavlovic J, Santoro N. Menstrual Cycle Hormone Changes Associated with Reproductive Aging and How They May Relate to Symptoms. Obstet Gynecol Clin North Am. 2018;45(4):613-628.

Shifren JL. Genitourinary Syndrome of Menopause. Clin Obstet Gynecol. 2018;61(3):508- 516.

Avis NE, Crawford SL, Green R. Vasomotor Symptoms Across the Menopause Transition: Differences Among Women. Obstet Gynecol Clin North Am. 2018;45(4):629-640.

Gava G, Orsili I, Alvisi S,Mancini I, Seracchioli R,Meriggiola MC. Cognition, Mood and Sleep in Menopausal Transition: The Role of Menopause Hormone Therapy. Medicina (Kaunas). 2019;55(10):668.

Scavello I, Maseroli E, Di Stasi V, Vignozzi L. Sexual Health in Menopause. Medicina (Kaunas). 2019;55(9):559.

Szoeke CEI, Cicuttini FM, Guthrie JR, Clark MS, Dennerstein L. Factors affecting the prevalence of osteoarthritis in healthy middle-aged women: data from the longitudinal Melbourne Women’s Midlife Health Project. Bone. 2006;39(5):1149-1155.

Rzepecki AK, Murase JE, Juran R, Fabi SG, McLellan BN. Estrogen-deficient skin:The role of topical therapy. Int J Womens Dermatol. 2019;5(2):85-90.

ผู้เขียน:

ผศ.พญ. อรวิน วัลลิภากร

หัวหน้าหน่วยสตรีวัยหมดระดู ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา

คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

มหาวิทยาลัยมหิดล

pastedGraphic.png

บทความที่น่าสนใจ

บทความที่น่าสนใจ