การประเมินความเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด: ปัจจัยและวิธีป้องกัน

โดย : Admin Besinsthailand วันที่เผยแพร่ : 28 ตุลาคม 2567
โดย : Admin Besinsthailand วันที่เผยแพร่ : 28 ตุลาคม 2567
แชร์ข้อมูล
การประเมินความเสี่ยง

การประเมินความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนด

การคลอดก่อนกำหนด เป็นภาวะที่พบได้บ่อยและเป็นปัญหาสำคัญทางสูติกรรม เนื่องจากเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของทารกหลังคลอดที่พบมากที่สุด (1, 2) ถึงแม้ปัจจุบันจะมีความก้าวหน้าทางการแพทย์มากขึ้น สามารถให้การดูแลทารกกลุ่มนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตามการคลอดก่อนกำหนดก็ยังคงส่งผลกระทบต่อมารดาและทารกไม่มากก็น้อยทั้งในด้านร่างกายหรือจิตใจ(3)

ปัจจุบันมีการให้ยาหรือมีวิธีการที่จะช่วยป้องกันการคลอดก่อนกำหนดอย่างได้ผลและเป็นที่น่าพอใจ แต่อย่างไรก็ตาม การประเมินความเสี่ยงทั้งก่อนและระหว่างการตั้งครรภ์ย่อมมีความสำคัญที่สุด เพราะจะทำให้แพทย์สามารถหาวิธีการป้องกันที่เหมาะสมและทันท่วงที

ปัจจัยสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดได้แก่ (4, 5)

  1. อายุของมารดาขณะตั้งครรภ์ โดยทั่วไปแล้วอายุของมารดาที่เพิ่มโอกาสการคลอดก่อนกำหนดคือ มารดาที่อายุน้อยกว่า 19 ปี หรือ มากกว่า 35 ปี
  2. โรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตัวเอง หรือโรคไตวายเรื้อรัง เป็นต้น ซึ่งหากมีการควบคุมหรือเตรียมพร้อมก่อน ก็จะทำให้ลดโอกาสการคลอดก่อนกำหนดได้
  3. การดื่มแอลกอฮอล์ หรือการใช้สารเสพติดให้โทษอื่นๆ เช่น แอมเฟตามีน โคเคน เฮโรอีน เป็นต้น เพิ่มโอกาสการคลอดก่อนกำหนด นอกจากนั้นยังเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้ทารกในครรภ์พิการอีกด้วย
  4. การสูบบุหรี่
  5. การตั้งครรภ์แฝด ทั้งการตั้งครรภ์ด้วยตัวเองและการใช้เทคโนโลยีช่วยการตั้งครรภ์
  6. ภาวะขาดสารอาหาร
  7. มีประวัติการคลอดก่อนกำหนดในท้องก่อน เป็นสาเหตุสำคัญที่สุด โดนเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นการคลอดที่อายุครรภ์น้อยกว่า 34 สัปดาห์
  8. การติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ หรือ ฟันผุหรือเหงือกอักเสบ
  9. การทำงานที่หนักจนเกินไป มากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน
  10. 10.ปากมดลูกสั้นซึ่งสามารถตรวจได้จากการทำอัลตราซาวด์ทางช่องคลอดในช่วงอายุครรภ์ 14-23 สัปดาห์

ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักๆ ที่มีผลการศึกษารองรับว่าส่งผลทำให้เพิ่มโอกาสการคลอดก่อนกำหนดจริง

ทางการแพทย์ได้มีการแนะนำวิธีการลดโอกาสการคลอดก่อนกำหนดดังแสดงในตาราง (6)

การป้องกันที่มีประสิทธิภาพ ระดับความน่าเชื่อถือของข้อมูล
การเย็บปากมดลูก น่าเชื่อถือมากที่สุด
การให้ยาฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเสริม (7) น่าเชื่อถือมากที่สุด
การให้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะที่ไม่แสดงอาการขณะตั้งครรภ์ น่าเชื่อถือมากที่สุด
การลดการตั้งครรภ์แฝดจากเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ น่าเชื่อถือมากที่สุด
การหลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์และสารเสพติด น่าเชื่อถือมาก
การหยุดสูบบุหรี่ น่าเชื่อถือ
หลีกเลี่ยงการทำงานที่หนักเกินไป ดี

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่บ่งบอกถึงวิธีการที่ไม่ได้ช่วยลดการคลอดก่อนกำหนด ดังแสดงในตารางที่ 2

การป้องกันที่ไม่มีประสิทธิภาพ ระดับความน่าเชื่อถือของข้อมูล
การนอนพักบนเตียงหรือรับไว้นอนในโรงพยาบาล น่าเชื่อถือมากที่สุด
การให้ยาลดการหดรัดตัวของมดลูก น่าเชื่อถือมากที่สุด
การให้ยาปฏิชีวนะในการป้องกันการติดเชื้อในช่องคลอด (8) น่าเชื่อถือมากที่สุด
การวัดการบีบรัดตัวของมดลูกโดยเครื่องตรวจวัด น่าเชื่อถือมากที่สุด
การเพิ่มมาตรฐานการฝากครรภ์ เช่น การเพิ่มจำนวนครั้ง หรือ การให้ความรู้ น่าเชื่อถือมาก

เอกสารอ้างอิง

1. Younes S, Samara M, Al-Jurf R, Nasrallah G, Al-Obaidly S, Salama H, et al. Incidence, Risk Factors, and Outcomes of Preterm and Early Term Births: A Population-Based Register Study. Int J Environ Res Public Health. 2021;18(11).

2. Quenby S, Gallos ID, Dhillon-Smith RK, Podesek M, Stephenson MD, Fisher J, et al. Miscarriage matters: the epidemiological, physical, psychological, and economic costs of early pregnancy loss. Lancet. 2021;397(10285):1658-67.

3. Shenassa ED, Widemann LG, Hunt CD. Antepartum Depression and Preterm Birth: Pathophysiology, Epidemiology, and Disparities due to structural racism. Curr Psychiatry Rep. 2021;23(3):14.

4. Wong TTC, Yong X, Tung JSZ, Lee BJY, Chan JMX, Du R, et al. Prediction of labour onset in women who present with symptoms of preterm labour using cervical length. BMC Pregnancy Childbirth. 2021;21(1):359.

5. Tavoli Z, Tajdar A, Kheiltash A, Rabie M. Determination of risk factors and cumulative effects of the maternal and neonatal risk factors in relation to preterm labor. J Family Med Prim Care. 2021;10(4):1747-53.

6. Zierden HC, Shapiro RL, DeLong K, Carter DM, Ensign LM. Next generation strategies for preventing preterm birth. Adv Drug Deliv Rev. 2021;174:190-209.

7. Diacci RC, Issah A, Williams KP, McAuliffe L, Aubin AM, McAuliffe JE, et al. Effectiveness of combined vaginal progesterone and cervical cerclage in preventing preterm birth: a systematic review and meta-analysis protocol. BMJ Open. 2021;11(6):e050086.

8. Kumar S, Kumari N, Talukdar D, Kothidar A, Sarkar M, Mehta O, et al. The Vaginal Microbial Signatures of Preterm Birth Delivery in Indian Women. Front Cell Infect Microbiol. 2021;11:622474.

ผู้เขียน:

ผศ. ดร. นพ. ภูดิศ เจต๊ะวรรณ

ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

pastedGraphic.png

บทความที่น่าสนใจ

บทความที่น่าสนใจ