วิธีการรักษาช่องคลอดแห้ง: ปัญหาที่ไม่ได้เกิดแค่ในวัยหมดประจำเดือน ตอนที่ 2
การรักษาภาวะช่องคลอดแห้ง อาจทำได้ดังนี้
1. รักษาด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน
- การรับประทานยาฮอร์โมนเอสโตรเจนนั้น เหมาะสำหรับกรณีรักษาอาการวัยทอง เช่น ร้อนวูบวาบ ปวดเมื่อยเนื้อตัว ผลทางคลินิกในการควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในเลือด และป้องกันกระดูกพรุน ( ในกรณีไม่มีข้อห้ามในการใช้ฮอร์โมน ) แต่ได้ผลช่วยลดอาการช่องคลอดแห้งไม่เต็มที่นัก ร้อยละ 10-20 ของผู้หญิงยังมีอาการช่องคลอดแห้งอยู่
- การทายาฮอร์โมนเอสโตรเจนในช่องคลอด ซึ่งเป็นเอสโตรเจนระดับฮอร์โมนน้อย ๆ มีการศึกษาของสมาคมวัยทองแห่งสหรัฐอเมริกา The North American Menopause Society (NAMS) ปี ค.ศ. 2007 พบว่าได้ผลดีในการรักษาภาวะช่องคลอดแห้ง ไม่ว่าจะเป็นชนิดเม็ด ครีม วงแหวน สอดช่องคลอด ในปัจจุบัน การใช้ฮอร์โมนแม้ในขนาดต่ำ ๆ ทาในช่องคลอด ก็มีการศึกษาพบว่าทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในกระแสเลือดเพิ่มด้วยเช่นกัน จึงต้องระมัดระวังในการใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่อาจมีข้อบ่งห้ามในการใช้ฮอร์โมน จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ทางการแพทย์ยังมีการศึกษาต่อเนื่อง ในการคิดค้นยาฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงที่ช่องคลอด โดยไม่ส่งผลต่ออวัยวะอื่น ๆ ต่อไป
2. รักษาด้วยการใช้สารให้ความชุ่มชื้น ที่ไม่ใช่ฮอร์โมน หรือที่เราเรียกกันว่า moisturizer เหมือนกับการใช้ moisturizer ที่ทาผิวแห้งตามร่างกาย ซึ่งเป็นรูปแบบเจลสอดในช่องคลอด ซึ่งสามารถใช้ได้ยาวนาน ไม่ส่งผลต่อร่างกายโดยรวม เนื่องจากไม่มีฮอร์โมน มีคุณสมบัติเคลือบปกป้องผิวช่องคลอดให้ชุ่มชื้น โดยใส่ในช่องคลอดทุก ๆ 2-3 วัน ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ ทำให้การรักษาไม่จำกัดเฉพาะการใช้ฮอร์โมน การใช้สารให้ความชุ่มชื้นมีบทบาทมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากไม่มีฮอร์โมน จึงสามารถใช้ได้บ่อย และต่อเนื่องได้นาน โดยไม่ต้องกังวลถึงความเสี่ยงจากฮอร์โมน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สตรีที่มีข้อบ่งห้ามในการใช้ฮอร์โมน ในต่างประเทศ การใช้สารให้ความชุ่มชื้นในรูปแบบเจลนี้ ได้รับความนิยมมาก ยิ่งในปัจจุบัน ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ อายุขัยเฉลี่ยของผู้หญิงคือ 75 ปี นั่นคือหลังเข้าสู่วัยหมดระดูที่อายุเฉลี่ย 50 ปี ผู้หญิงจะต้องใช้ชีวิตอยู่ในวัยหมดระดู และทนกับอาการช่องคลอดแห้งนานถึง 25 ปี การดูแลสุขภาพช่องคลอดจึงต้องให้ความสำคัญเช่นเดียวกับการดูแลผิวพรรณตำแหน่งอื่น ๆ ให้ชุ่มชื้นเช่นกัน
3. การใช้เจลหล่อลื่น สำหรับกรณีปัญหาหลักอยู่ที่การเจ็บ แสบขณะมีเพศสัมพันธ์ ก็สามารถใช้เจลหล่อลื่น เฉพาะขณะมีกิจกรรม โดยทาบริเวณช่องคลอด ปากช่องคลอด หรืออวัยวะเพศชายก็ได้ แต่สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือ คุณสมบัติของเจลหล่อลื่นนั้น ใช้เฉพาะช่วยหล่อลื่นขณะมีกิจกรรมเท่านั้น ไม่ได้มีคุณสมบัติบำรุงและปกป้องแบบสารให้ความชุ่มชื้น หรือ moisturizer
4. การให้วิตามินกับอาหารเสริม ยังไม่มีการศึกษาพิสูจน์ชัดเจนถึงการใช้ วิตามิน E และ วิตามิน D ว่าได้ผลในการรักษาภาวะช่องคลอดแห้ง
5. การใช้เลเซอร์ชนิด Fractional CO2 ปัจจุบัน มีเทคโนโลยีใหม่ในการใช้เลเซอร์ ในการรักษาแบบฟื้นฟู โดยเครื่องจะปล่อยแสงเลเซอร์ออกมาแบบ 360 องศา ไปกระตุ้นเซลล์ไฟโบรบลาสท์ ช่วยทำให้ผลิตและจัดเรียงเส้นใยคอลลาเจนได้ดียิ่งขึ้น ทำให้เซลล์ช่องคลอดผลิตสารคัดหลั่งเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความชุ่มชื้นขึ้นตามมา การใช้สารให้ความชุ่มชื้น หรือ moisturizer หลังรักษาด้วยเลเซอร์ ก็จะยิ่งคงความชุ่มชื้น และให้ผลการรักษาที่ดี และยาวนานมากขึ้น
ปัญหาช่องคลอดและปากช่องคลอดแห้ง อาจฟังดูเหมือนผิวแห้ง แต่เมื่อเกิดบริเวณช่องคลอดแล้ว ส่งผลต่อหลายระบบ เนื่องจากผนังช่องคลอดรองรับกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะด้วย จึงทำให้มีอาการทั้งแห้ง ระคายเคือง แสบร้อน ปัสสาวะขัด และรวมถึงกิจกรรมกับสามี การดูแลจุดซ่อนเร้นให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอจึงมีความสำคัญ จะเห็นได้ว่า การรักษาไม่จำกัดเฉพาะการใช้ฮอร์โมน การใช้สารให้ความชุ่มชื้นมีบทบาทมากขึ้น เนื่องจากใช้ง่าย ใช้ได้บ่อย และต่อเนื่องได้นาน การดูแลให้ช่องคลอดชุ่มชื้นจึงไม่ใช่เรื่องน่ากังวลอีกต่อไป
ผู้เขียน:
พญ.ธิศรา วีรสมัย
สูตินรีแพทย์ หัวหน้าศูนย์สุขภาพหญิง และ หัวหน้าศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย
Smart Life Anti-aging Center รพ.พญาไท 1