สาเหตุและอาการของช่องคลอดแห้ง: ปัญหาที่ไม่ได้เกิดแค่ในวัยหมดประจำเดือน ตอนที่ 1
ความเข้าใจดั้งเดิม เมื่อพูดถึงอาการช่องคลอดแห้ง เรามักนึกถึงความเหี่ยวแห้งจากการขาดฮอร์โมนในหญิงวัยหมดระดู หรือ วัยทอง แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นอย่างนั้น
ในปัจจุบัน การศึกษาทางการแพทย์พบว่า ภาวะช่องคลอดและปากช่องคลอดแห้ง หรือที่เรียกว่า Vulvovaginal atrophy (VVA) นั้น พบได้ในหลายกรณีกว่านั้นแต่มักไม่ได้รับการรายงาน สาเหตุหลักเกิดจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เนื้อเยื่อช่องคลอดลดลง และพบว่าสามารถเกิดกับผู้หญิงทุกวัยในช่วงชีวิตหนึ่งเมื่อมีการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน โดยร้อยละ 50 พบในหญิงวัยหมดระดู
อาการของภาวะช่องคลอดแห้ง ได้แก่
- รู้สึกร้อน ๆ แสบแห้ง ระคายเคืองในช่องคลอด
- ขาดน้ำหล่อลื่น และเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์
- ปัสสาวะบ่อย รู้สึกร้อน ๆ แสบขณะปัสสาวะ ปัสสาวะเล็ด กลั้นปัสสาวะไม่ได้
- ช่องคลอดอักเสบ เป็นตกขาวบ่อย เป็น ๆ หาย ๆ และหายยาก เนื่องจาก ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ ผู้หญิงมีฮอร์โมนเอสโตรเจนปกติ ช่องคลอดจะมีผิวชุ่ม หนาและมีลูกคลื่น พอเข้าวัยทอง จะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน จึงทำให้ผนังช่องคลอดจะบางลง ความยืดหยุ่นลดลง เลือดที่มาเลี้ยงบริเวณช่องคลอดลดลง การหลั่งน้ำหล่อลื่นลดลง ภาวะความเป็นกรดลดลง กลายเป็นสภาวะด่างมากขึ้น สาเหตุเพราะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ร่วมกับเซลล์ที่ผนังช่องคลอดลอก ทำให้ช่องคลอดมีความเป็นด่างมากขึ้น ซึ่งเป็นสภาวะที่แบคทีเรียชนิดดี lactobacilli ที่คอยปกป้องช่องคลอดนั้นอยู่ไม่ได้ ทำให้มีการเติบโตของแบคทีเรียก่อโรคต่าง ๆ ทำให้ช่องคลอดติดเชื้อได้ง่ายและบ่อย
เมื่อตรวจภายในแล้วจะพบว่า
- ช่องคลอดสีซีด แห้ง อาจพบจุดเลือดออก ลูกคลื่นของช่องคลอดหายไป ปากมดลูกอาจแบนแนบไปกับช่องคลอด
- หากต้องการวินิจฉัยชัดเจนขึ้น สามารถตรวจภาวะกรดด่าง จะพบความเป็นด่าง โดย ค่า pH จะมากกว่าหรือเท่ากับ 4.6
- เมื่อตรวจปัสสาวะ มักพบมีเม็ดเลือดแดงปนเปื้อน ( ในสตรีวัยหมดระดู เมื่อตรวจสุขภาพประจำปี ผลตรวจปัสสาวะมักมีเม็ดเลือดแดงปนเปื้อน หากได้ตรวจวินิจฉัยแยกโรคของทางเดินปัสสาวะไปแล้ว ก็มักจะเป็นจากภาวะช่องคลอดแห้ง )
สาเหตุของภาวะช่องคลอดแห้ง
- ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายที่ลดลงตามวัย ซึ่งในวัยก่อนหมดประจำเดือน ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน อยู่ที่ 10-800 pg/ml ปริมาณแตกต่างตามระยะของรอบเดือน แต่เมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนมักน้อยกว่า 30 pg/ml และแหล่งของเอสโตรเจนจะมาจากเอสโตรเจนชนิด E1 มากกว่า ซึ่งถูกเปลี่ยนมาจากส่วนของไขมันที่สะสมบริเวณท้องแขน ต้นขาและพุงหรือหน้าท้อง
- ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงจากผลข้างเคียงของยา ได้แก่
- การใช้ยาเคมีบำบัดในการรักษามะเร็ง ในบางรายส่งผลให้รังไข่ทำงานล้มเหลว เกิดการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน และพบปัญหาช่องคลอดและปากช่องคลอดแห้งตามมา มีการเก็บข้อมูลพบปัญหานี้ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ผ่านการให้ยาเคมีบำบัด ร้อยละ 23-61
- การให้ยาซึ่งมีกลไกต้านฮอร์โมนเอสโตรเจนในการรักษาบางโรค เช่น เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ , ถุงน้ำช็อคโกแลตที่รังไข่ ( เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ซึ่งพบที่รังไข่ ) , การฉีดยาเพื่อลดขนาดก้อนเนื้องอกมดลูกก่อนการผ่าตัด ซึ่งอาจพบปัญหาช่องคลอดแห้งตามมาได้
การวินิจฉัยแยกโรคอื่นนอกจากภาวะช่องคลอดแห้ง
จำเป็นต้องพิจารณาเสมอก่อนการให้การรักษา เนื่องจากรักษาแตกต่างกัน
- ภาวะช่องคลอดอักเสบจากการติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย โปรโตซัว เชื้อรา ซึ่งอาจมีอาการแสบร้อน คัน ปัสสาวะขัดร่วมด้วย นอกจากการมีตกขาว
- ระคายเคืองช่องคลอด จากการแพ้สบู่ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น หรือชุดชั้นในที่สวมใส่ หรือแผ่นอนามัย
- ผื่นผิวหนังบริเวณปากช่องคลอดและช่องคลอด
- ระยะก่อนมะเร็งหรือมะเร็งช่องคลอด ปากช่องคลอด ซึ่งจะมีอาการแห้ง คัน ระคายเคืองเรื้อรังได้ ดังนั้น หากมีอาการ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการตรวจร่างกายและวินิจฉัยก่อนเสมอ
ในตอนหน้าจะพูดถึง การรักษาภาวะช่องคลอดแห้ง กันต่อว่ามีวิธีใดบ้าง
ผู้เขียน:
พญ.ธิศรา วีรสมัย
สูตินรีแพทย์ หัวหน้าศูนย์สุขภาพหญิง และ หัวหน้าศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย
Smart Life Anti-aging Center รพ.พญาไท 1